การแสดงผลงานการรณรงค์หยุดพนันในชุมชน โครงการ “๙ สู่ชีวิตพอเพียง”


การแสดงผลงานการรณรงค์หยุดพนันในชุมชน โครงการ “๙ สู่ชีวิตพอเพียง”
วันที่โพสต์ : 2022-06-13
วันที่ 17 มิถุนายน 2565 ณ โรงเรียนบ้านหนองคูน้อย ตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

 

  • ความเป็นมา

          สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มอบหมายให้มูลนิธิรณรงค์หยุดพนันสนับสนุนเครือข่ายชุมชน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง น่าน พะเยา กาฬสินธุ์ สุรินทร์ อุบลราชธานี เลย สระบุรี พัทลุง และกรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการ “๙สู่ชีวิตพอเพียง” มานับแต่ปี พ.ศ.2560  เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนดำเนินชีวิตตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ถวายเป็นปฏิบัติบูชาต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร และอาศัยแนวทางนี้รณรงค์ให้ลดละเลิกการพนัน 

          กิจกรรมสำคัญของโครงการคือ การจัดกิจกรรมเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม (participatory learning) ของครอบครัวต้นแบบในชุมชน จังหวัดละ 50 ครอบครัวอย่างต่อเนื่อง เน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น  โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง“การระเบิดจากข้างใน” แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ให้ค้นพบปัญหาหรือความต้องการ  พร้อมแนวทางการแก้ปัญหาด้วยตนเอง จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้เข้าร่วมโครงการรายอื่น ๆ 

นับเป็นก้าวแรกของการรณรงค์หยุดพนันในมิติของพื้นที่ชุมชน ผลลัพธ์ของโครงการระยะที่หนึ่ง ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์และบทเรียนเด่น ๆ ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทั้ง 10 จังหวัด ออกเป็นมา “50 เรื่องเล่าของคนต้นแบบลดละเลิกพนัน”  (จังหวัดละ 5 กรณี) เพื่อนำเสนอต่อสาธารณะ  และนำมาสู่การพัฒนาโครงการ “๙ ต่อไปสู่ชีวิตพอเพียง” (2561-62)  ที่ยังคงดำเนินการกับเครือข่าย 10 จังหวัดเดิมแต่มีหมุดหมายการดำเนินงานชัดเจนมากขึ้น      ด้วยข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี 2560 ที่ชี้ชัดว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน คือการพนันสองอันดับแรกของคนไทยในทุกภูมิภาค  มีผู้เล่นทั้งสิ้นมากกว่า 25 ล้านคน (เป็นผู้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล 21 ล้านคน และผู้ซื้อหวยใต้ดิน 17 ล้านคน  และบางคนซื้อทั้งสองชนิด)  และมีปริมาณเงินรวมของการซื้อหวยทั้งสองชนิด  ถึง 250,000 ล้านบาท/ปี (จากรายงานของศูนย์ customer insight ธนาคารTMB  ปี 2561) ทำให้การดำเนินการในระยะที่สองนี้มุ่งไปที่การลดละเลิกการเล่นหวยในชุมชนเป็นประเด็นสำคัญ  ด้วยแนวทางการรณรงค์ “เปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออม” ที่ยังคงเน้นกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมเช่นเดิมในเนื้อหาที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น คือ  

  1. การรู้ทันหวย ภายใต้ชื่อกิจกรรมว่า “ล็อตเตอรี่ศึกษา” ที่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ “ความคิด” และ “ความหวัง” ของคนซื้อหวย กับ “ความเป็นจริง” ของการถูกรางวัล และ
  2. การจัดการการเงินครัวเรือน โดยร่วมมือกับบริษัท เงินติดล้อ จำกัด พัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการเสริมหลักคิดในการจัดการการเงิน ทั้งการใช้จ่าย การออม การชำระหนี้สิน และอื่น ๆ

ผลลัพธ์ของโครงการระยะที่สองนี้ ถูกสังเคราะห์เป็น “บทเรียนคนสู้หวย” จาก 45 บุคคลต้นแบบจาก 9 จังหวัด (ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร)   ที่ค้นพบมิติของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการ “ตกผลึก”แล้วนำมาสู่การ “ระเบิดจากข้างใน”  เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า “ฮู้ (รู้) สู้หวย” ใน 5 มิติ คือ

  1. ฮู้คึด เกิดกระบวนการทางความคิด หรือ “รู้คิด” จากการครุ่นคิดจนตกผลึก หรือจากการได้คิด “คลิ๊ก” หรือ “ปิ๊งแวบ” ขึ้นมาได้จากเหตุการณ์บางอย่าง
  2. ฮู้ใจ๋ เกิดกระบวนการทางจิตใจหรืออารมณ์ความรู้สึก หรือ “รู้ใจ” เช่น เกิดความรู้สึกมุ่งมั่นจากเหตุการณ์บางอย่างมากระตุ้น หรือเกิดการเห็นในคุณค่าและความหมายของสิ่งที่ทำ
  3. ฮู้เฮ็ด เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงในภาคปฏิบัติ หรือ “รู้ทำ” จากการได้ค้นพบวิธีการและทดลองทำ และมีการจูงใจให้ตนเองทำมาอย่างต่อเนื่อง
  4. ฮู้ฮัก เกิดจากแรงกระทบจากคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท ที่มีคำพูดหรือการแสดงออกบางอย่างที่สะกิดใจ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เรียกว่า “รู้รัก”
  5. ฮู้ฮ่วม เกิดจากการที่ตนเองได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมบางอย่างในชุมชน ที่เรียกว่า “รู้ร่วม” แล้วเป็นเหตุให้เกิดการได้คิด หรือเบี่ยงเบนพฤติกรรมไปจากเดิม เช่น  ได้เรียนรู้จากกิจกรรมในโครงการ  ได้เป็นจิตอาสาในชุมชน หรือมีสถานะตำแหน่งในชุมชน  เป็นต้น

กระบวนการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นำมาสู่การ “ลด-ละ-เลิกเล่นหวย” ในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งรูปธรรมของวิธีการปฏิบัติ และรูปธรรมของตัวบุคคลผู้สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเอง

          โครงการทั้ง 2 ระยะถือเป็นการเริ่มต้นปฏิบัติการรณรงค์ลดละเลิกพนันด้วยกระบวนการชุมชน จากการรณรงค์ลดละเลิกพนันในภาพรวม เจาะจงมาที่การพนันที่มีผลกระทบสูงต่อสังคม คือ “หวย”

กล่าวได้ว่า ปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินการขึ้นอยู่กับ “ 3 พลัง” สำคัญ คือ

          หนึ่ง     “พลังศรัทธา” ที่ประชาชนไทยมีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9

          สอง     “พลังการเรียนรู้” เน้นหนักที่การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมเพื่อการรู้เท่าทันการพนัน (หวย)

           สาม     “พลังชุมชน” โดยเน้นปฏิบัติการในบริบทชุมชน ด้วยพลังของผู้นำและอาสาสมัครชุมชน

ด้วยจุดแข็งของเครือข่าย 9 จังหวัดมีความเชี่ยวชาญในการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม (PL)  การใช้หัวข้อและเนื้อหาการเรียนรู้ชุดเดียวกันที่ถูกออกแบบให้เหมาะกับความเชี่ยวชาญของเครือข่าย ทำให้เครือข่ายสามารถทำงานได้ง่ายและมีทิศทางไปในทางเดียวกัน    การมีประเด็นร่วมแบบ “Big Campaign” ทำให้การสื่อสารรณรงค์มีความเป็นเอกภาพ  และ“คนต้นแบบ” จาก 2 ระยะที่ผ่านมาก้าวเข้ามาร่วมเป็นแกนนำการรณรงค์หยุดพนันในพื้นที่

 

สถานการณ์โควิด 19 กับประเด็นรณรงค์หยุดพนันในชุมชน

สถานการณ์โควิด 19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในทุกระดับ   ผลสำรวจของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ระหว่างวันที่ 12-15 พฤษภาคม  2563 พบว่าในช่วงที่เผชิญกับสถานการณ์โควิด  ประชาชนไทย 25.16% มีรายได้ประจำลดลง    35.38% มีรายได้พิเศษลดลง  27.91% มีเงินออมลดลง    และ 25.07% มีหนี้สินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี  ผลสำรวจนี้ยังพบว่า ในช่วงแพร่ระบาดของเชื้อโควิด19 นี้ทำให้ประชาชนไทยมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่ลดลงเช่นกัน อาทิ ค่าเสื้อผ้า  ค่าท่องเที่ยวพักผ่อน  ค่าเครื่องประดับ และค่าเสี่ยงโชค ซื้อล็อตเตอรี่ เล่นหวย ซึ่งคิดเป็น 38.67% ของผู้ตอบทั้งหมด

ในอีกด้านหนึ่ง สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รายงานพฤติกรรมการออมของคนไทยผ่านข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคาร เมื่อเดือนธันวาคม 2562  อันเป็นช่วงที่กำลังจะเข้าสู่การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19  พบว่า ครัวเรือนไทยมีสภาพคล่องไม่เพียงพอรองรับความต้องการใช้จ่ายในเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด  โดยคนไทย 58% มีเงินในบัญชีเงินฝากไม่เพียงพอกับค่าครองชีพรายเดือน (เฉลี่ยประมาณ 6,345 บาท/เดือน) เฉพาะภาคอีสานมีครัวเรือนที่อยู่ในภาวะนี้ถึง 70% ขณะที่กทม. มีถึง 44%     นอกจากนั้นยังพบว่า คนไทย 50% มีเงินฝากบัญชีไม่ถึง 3,000 บาท  33% มีเงินในบัญชีไม่ถึง 500 บาท 

จากสถานการณ์ข้างต้น นำมาสู่การดำเนินโครงการในระยะที่ 3 (62-64) ที่ยังคงยึดถือแนวปฏิบัติเดิม คือ การสร้างการเรียนรู้ด้วยกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม (PL) ผ่านกิจกรรมสำคัญ คือ

  1. “รู้ทันหวย” ด้วยกิจกรรม “ล็อตเตอรี่ศึกษา” ซึ่งได้พัฒนาเนื้อหาให้เข้มข้นมากขึ้น และ
  2. การวางแผนการเงินเพื่อสร้างหลักประกันระยะยาว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบริษัท เงินติดล้อ ในการสร้างสรรค์กิจกรรมการเรียนรู้นี้ให้เหมาะกับชุมชน
  3. เสริมด้วยกิจกรรมละครสร้างการเรียนรู้ “อย่าให้หวยเป็นปัญหา” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเรียนรู้บางเพลย์ กลุ่มไม้ขีดไฟ และกลุ่มกิ่งก้านใบ ซึ่งเป็นเครือข่ายร่วมรณรงค์หยุดพนัน ช่วยพัฒนาเนื้อหาและรูปแบบของการใช้ละครเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (แนวคิดการใช้ละครสร้างการเรียนรู้ มีที่มาจากงานวิจัยเรื่อง “ละครถกแถลง” ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน โดย ดร.กนกวรรณ มโนรมย์  ผลการวิจัยสนับสนุนว่ากระบวนการละครถกแถลงมีพลังในการสร้างการเรียนรู้แก่ผู้ชมอย่างมาก)

โดยมีเป้าหมายที่ครอบครัวใน 50 ชุมชนใน 10 จังหวัดเครือข่ายเดิม   คาดหวังให้เกิดผลการปฏิบัติของชุมชนในการรณรงค์ให้เกิดการลด ละ เลิกเล่นพนัน  เกิดเรื่องเล่าความสำเร็จของบุคคลที่สามารถลดละเลิกการเล่นพนันได้จริง

ผลการดำเนินโครงการในระยะที่ 3 เกิดข้อค้นพบที่น่าสนใจ 9 ประการ คือ

  1. ปฏิบัติการ “ไตรพลัง” ของโครงการ อันได้แก่ พลังศรัทธาที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พลังการเรียนรู้ ด้วยกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมตามหลักสูตร “ล็อตเตอรี่ศึกษา” และ “การวางแผนการเงินครัวเรือน” และพลังชุมชน โดยการขับเคลื่อนของผู้นำชุมชน อสม. และอาสาสมัครศพค. โดยการหนุนเสริมของทีมnode จังหวัด   สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง ทำให้พฤติกรรมการซื้อหวยจนเป็นปัญหาในชุมชนลดลง ทั้งในจำนวนผู้พนันหวย และจำนวนเงินที่ใช้ซื้อหวย
  2. การสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยเครื่องมือสร้างการเรียนรู้หลักสูตร “ล็อตเตอรี่ศึกษา” สามารถส่งผลต่อความรู้ความเข้าใจและทัศนคติของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า “การซื้อหวยหรือสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นการพนัน” และ “การถูกรางวัลไม่ใช่เรื่องง่าย”   และมีทัศนคติเชิงบวกต่อการซื้อหวยน้อยลง เช่น การถูกหวยไม่ใช่เรื่องของโชคหรือดวง  การเฉียดในงวดนี้ไม่มีผลต่อการถูกรางวัลในงวดหน้า และการซื้อหวยไม่ใช่การลงทุน เป็นต้น
  3. การดำเนินโครงการได้สร้าง “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ที่หลากหลายสถานะ ตั้งแต่ผู้นำท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นผู้นำทั้งในการรณรงค์ผลักดันการเปลี่ยนเงินหวยเป็นเงินออมของชาวบ้าน และเป็นผู้นำการปฎิบัติ เช่น ออมให้เห็นเป็นแบบอย่าง หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเอง เช่น เลิกซื้อหวยเป็นแบบอย่าง เช่นเดียวกับผู้นำกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ     รวมถึง “เจ้ามือหวย” และ “คนเก็บหวย” ที่เปลี่ยนแปลงตัวเองมาสู่ทิศทางที่สร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม
  4. เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบายขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อบต. หรือเทศบาล) บางแห่งบรรจุ “การลดละเลิกหวย” เป็นตัวชี้วัดของการพัฒนา“เมืองน่าอยู่”โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มขึ้น เช่น จาก 25% เป็น 65% ของครัวเรือนที่มีการลดละเลิกหวย ขณะที่บางแห่งบูรณาการเนื้องานกับการออมอื่น เช่น การซื้อสลาก ธกส. เป็นต้น
  5. การสร้างการตื่นรู้ด้วยกระบวนการละคร เป็นที่ประจักษ์ชัดในทุกจังหวัดว่าเป็นเครื่องมือที่มีพลัง สามารถสื่อสารกับชาวบ้านได้อย่างเข้าถึง สร้างการมีส่วนร่วมทั้งในเชิงอารมณ์ร่วม แสดงร่วม และคิดร่วม ด้วยการสะท้อนเรื่องจริงที่ใกล้ตัว   กระบวนการละครจึงทำหน้าที่เสมือนใบเบิกทางให้ชุมชนเปิดใจที่จะเรียนรู้ในกระบวนการต่อไป เช่น ล็อตเตอรี่ศึกษา และการวางแผนการเงินครัวเรือน ได้เข้าถึงง่ายขึ้น   นอกจากนี้กระบวนการละครยังช่วยเปิดพื้นที่ให้อาสาสมัครเด็กและเยาวชนได้แสดงตัวตน และสร้างคุณค่าแก่ชุมชน
  6. การค้นพบร่วมกันของเครือข่ายว่า “โรงเรียนผู้สูงอายุ” คือแนวรุกลำดับต่อไปที่เข้ากระทำ ด้วยสภาพปัญหาการนิยมเล่นหวยในกลุ่มผู้สูงอายุ การเปิดกว้างในกิจกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียนผู้สูงอายุ และการเป็นวิทยากรที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นยอมรับในศักยภาพของเครือข่าย
  7. สำหรับชุมชนที่มีระบบการออมชุมชนเป็นพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว สามารถนำกิจกรรมโครงการเข้าไปหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในตลอดสายของกระบวนการชุมชน สร้างการเรียนรู้ จูงใจไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสร้างหลักประกันที่ยั่งยืนกับระบบการออมชุมชน  เช่น การรณรงค์ออมวันละบาทกับกองทุนหมู่บ้าน   การออมวันรับเบี้ยของกลุ่มผู้สูงอายุ  รวมถึงการเชื่อมต่อกับระบบการออมของรัฐ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น
  8. การที่โครงการเข้าได้ดีกับโครงการอื่น ๆ ของท้องถิ่นที่ส่งเสริมแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อย่างมีรูปธรรมของกิจกรรมดำเนินการและรณรงค์ที่แข็งแรง มีส่วนช่วยเสริมภูมิความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน สามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้อย่างมั่นใจว่าสามารถยืนระยะได้  กำนันผู้หนึ่งที่เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า “ปิดหมู่บ้าน 3 เดือน เราอยู่ได้”
  9. เกิดต้นแบบการออมระดับ node เพื่อพัฒนาระบบการออมเพื่อสร้างหลักประกันแก่ผู้ปฏิบัติงานภาคประชาสังคม โดยการตั้งกลุ่ม “ออมอิ่มอุ่น” ของคณะทำงานจังหวัดสุรินทร์ นำเงินมาออมรวมกัน และนำไปต่อยอดในสหกรณ์ออมทรัพย์ของชุมชนบานคาบเหนือ ซึ่งมีพื้นฐานที่มั่นคงแข็งแรงมาเป็นเวลานาน

..........................................................

ทั้งหมดที่กล่าวมานำมาสู่การจัดแสดงผลงานการรณรงค์หยุดพนันในชุมชน ภายใต้โครงการ “๙สู่ชีวิตพอเพียง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอบทเรียนและผลงานการดำเนินการรณรงค์หยุดพนันโดยเครือข่ายชุมชน

การแสดงผลงานประกอบด้วย

  1. นิทรรศการแสดงบทเรียนและผลงานโครงการ
  2. การนำเสนอผลงาน การเสวนา และการแสดงของเครือข่าย
  3. ตลาดนัดเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน
  4. ตลาดนัดการออมของชุมชน

โดยมีรายละเอียดตามกำหนดการ ดังนี้

 

กำหนดการงานแสดงผลงานการรณรงค์หยุดพนันในชุมชน

“โครงการ ๙ สู่ชีวิตพอเพียง”

 

วันที่ 17 มิถุนายน 2565 ณ โรงเรียนบ้านหนองคูน้อย ตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์

 

08.30-09.00 น.              ลงทะเบียนผู้เข้าร่วม

9.00-10.00   น.              ชมนิทรรศการ และตลาดนัดการออมของชาวชุมชนหนองคูน้อย

10.00-10.30 น.              ผู้แทนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

                                    กล่าวแนะนำแนวทางการดำเนินการของ สสส.

                                    พิธีเปิด โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์*

10.45-10.55  น.             การแสดงชุด “สุรินทร์สามเผ่า” โดยนักเรียนโรงเรียนบ้านพิงพวย

11.00-11.30  น.             นายธนากร  คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน

                                    นำเสนอบทเรียนการดำเนินโครงการ “๙สู่ชีวิตพอเพียง”

11.30-12.00  น.             ละครสร้างการเรียนรู้ “คนเล่นหวย”  โดย ทีมเยาวชนรณรงค์หยุดพนัน

12.00-13.00  น.             รับประทานอาหารกลางวัน

13.00-13.30  น.             พิธีกรภาคสนามพาชม “ตลาดนัดเครือข่าย”         

13.30-13.45  น.             การแสดงชุด “คนทรงเจ้า” โดยเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน             

13.45-14.15  น.             สัมภาษณ์ “เจ้ามือกลับใจ”        

14.15-14.30 น.              การแสดงเพลงรำวง “รู้ทันหวย” โดยเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน 9 จังหวัด

14.30-15.00 น.              การเสวนา “ความสุขของคนทำงานสร้างความตื่นรู้สู้พนัน”

14.45-15.00 น.              การแสดงเพลงรำวงผู้สูงอายู / กล่าวคำอำลา

 

-เสร็จกิจกรรม-