การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 มีมติจะเดินหน้ากลไกในสภาทุกอย่างเพื่อกดดันให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมีนายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เป็นตัวแทนยื่นหนังสือกล่าวว่า เครือข่ายที่ร่วมแสดงจุดยืนประกอบด้วยกลุมจากหลายภาคส่วน ได้แก่ เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง เครือข่ายชุมชน เครือข่ายแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เครือข่ายศาสนา เครือข่ายครูอาจารย์และนักวิชาการ เครือข่ายนักกฎหมาย เครือข่ายสื่อสารมวลชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม
เครือข่ายประชาชนชี้ให้เห็นถึงปัญหาของร่างกฎหมายใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ
1.การหวังรายได้จากกิจการพนันจะก่อให้เกิดผลได้ไม่คุ้มเสีย มีผู้ได้ประโยชน์เพียงส่วนน้อย ขณะที่ผลเสียตกกับสังคมโดยรวม ซึ่งขัดกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2.การคิดว่าจะใช้การพนันบนดินแก้ปัญหาการพนันใต้ดิน เป็นแนวคิดที่หลงทางและจะกลับกลายเป็นการเพิ่มการขยายตัวของการพนันอย่างชอบธรรมโดยนโยบายรัฐ
3.การหลงในวาทกรรม "การพนันอย่างรับผิดชอบ" คือการหลงเหลี่ยมคำลวงของธุรกิจพนัน ที่มุ่งผลักภาระรับผิดชอบมาที่ผู้เล่นพนัน และพยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบของธุรกิจ และ
4.การลดปัญหาการพนันในสังคมต้องทำทั้งระบบ ทั้งระบบปราบปรามที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ ระบบป้องกันที่ต้นทางโดยการสร้างสติปัญญาความรอบรู้แก่ประชาชน และระบบเยียวยาโดยใช้มาตรการทางการคลังแทนที่จะผ่านร่างกฎหมายนี้
"เครือข่ายประชาชนเสนอให้ปฏิรูปกฎหมายการพนันของประเทศบนพื้นฐานของความจริงใจในการแก้ปัญหาอย่างไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง โดยมุ่งเน้นการออกแบบมาตรการและกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่มีการถ่วงดุลอำนาจและสามารถตรวจสอบได้ คู่ขนานไปกับการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นและการกระจายความเป็นธรรมในสังคม การเคลื่อนไหวครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการรวมตัวของภาคประชาชนข้ามสาขาอาชีพเพื่อคัดค้านนโยบายที่เห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในระยะยาว" นายธนากร กล่าว