สสส. สานพลังภาคีฯ ลงนาม MOU สร้างทักษะเยาวชนรู้เท่าทันพนันออนไลน์ หลังคนรุ่นใหม่ 1.4 ล้านคน เสี่ยงโรคติดพนัน-ภาวะซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย-ใช้สารเสพติด


สสส. สานพลังภาคีฯ ลงนาม MOU สร้างทักษะเยาวชนรู้เท่าทันพนันออนไลน์ หลังคนรุ่นใหม่ 1.4 ล้านคน เสี่ยงโรคติดพนัน-ภาวะซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย-ใช้สารเสพติด
วันที่โพสต์ : 2024-02-15
ผนึกกำลังสู้ภัยพนันในเด็ก สสส.สานพลัง ม.รังสิต-ภาคีเครือข่าย สร้างทักษะการรู้เท่าทันพนันป้องกันเด็ก-เยาวชน พบเล่นพนันออนไลน์กว่า 3 ล้านคน กว่า 1.4 ล้านคน เสี่ยงเป็นโรคติดพนัน-ภาวะซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย-ใช้สารเสพติด
 
 
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2567 ที่ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) สร้างทักษะการรู้เท่าทันการพนันเพื่อป้องกันเด็ก และเยาวชน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ผลสำรวจพฤติกรรมพนันออนไลน์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ อายุ 15-25 ปี ทั่วประเทศ จำนวน 5,010 ตัวอย่าง ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 2566 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า เล่นพนันออนไลน์กว่า 3 ล้านคน ผ่านการกระตุ้นชักชวนผ่านสื่อออนไลน์แต่ละแพลตฟอร์มอย่างกว้างขวาง ซึ่งคนรุ่นใหม่ประมาณ 1.4 ล้านคน เสี่ยงกลายเป็นนักพนันที่เป็นปัญหา นำไปสู่โรคติดพนัน หรือ Pathological Gambling มีผลโดยตรงต่อสมอง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย และใช้สารเสพติดสูงกว่าคนทั่วไปถึง 2-5 เท่า ด้านสภาพแวดล้อม 97% มีคนรู้จักเล่นพนัน นอกจากนี้ยังมีการแชร์ บอกต่อ หรือชักชวนให้ร่วมเล่นพนันอีกจำนวนมาก
 
“เด็ก และเยาวชนมีโอกาสเป็นผู้เสพติดพนันสูงกว่าผู้ใหญ่ สสส. จึงได้สร้างความร่วมมือผ่านโครงการสร้างเสริมศักยภาพและขยายเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม รวมถึงผลักดันกลไกเครือข่ายเฝ้าระวัง และสื่อสาร ลดผลกระทบพนันระดับพื้นที่ทั่วประเทศ เชื่อมประสานภาควิชาการ ขับเคลื่อนสังคม พัฒนานโยบาย-ศักยภาพพร้อมขยายเครือข่ายนักรณรงค์ จัดทำชุดการเรียนรู้ และร่วมกันเฝ้าระวัง นอกจากนี้ ThaiHealth Watch 2024 จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2567 : Next Gen Living คุณภาพชีวิตในอนาคต ที่สะท้อนอนาคตทิศทางสุขภาพที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นใหม่ ซึ่งมีเรื่อง “เยาวชนไทยบนโลกแห่งการพนันไร้พรมแดน” เป็น 1 ใน 7 ประเด็นที่ สสส. ให้ความสำคัญ เร่งป้องกัน และแก้ไขปัญหา ลดนักพนันหน้าใหม่ในเด็ก และเยาวชน” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
 
ศ.พิเศษวิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอดีตประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา กล่าวว่า เด็ก และเยาวชนเข้าถึงพนันออนไลน์ได้ง่าย ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน ส่งผลกระทบต่อรายได้กับปัญหาสังคม ครอบครัว และอาชญากรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่จัดการได้ยาก ทั้งยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการทุจริต ฉ้อโกง ม.รังสิต จึงร่วมกับ สสส. มูลนิธิต่อต้านการทุจริต มูลนิธิสถาบันนิติจิตเวชเด็ก เยาวชนและครอบครัว มูลนิธิยุวพุทธพัฒนา และหมู่บ้านช่อสะอาด 76 จังหวัด 77 หมู่บ้าน พัฒนานโยบายมาตรการป้องกันการเข้าถึงการพนันในเด็กและเยาวชน ผ่านการมีส่วนร่วมของบุคลากรในแต่ละหน่วยงาน รวมถึงสร้างความตระหนักเรื่องการเท่าทันพนัน และสร้างความเข้าใจกับผู้กำหนดนโยบาย เพื่อให้มีนโยบายไม่เพิ่มพื้นที่การพนัน
 
“การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ม.รังสิต สสส. ภาคีจะร่วมกันสร้างความตระหนักเรื่องการเท่าทันพนันทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา ผ่านกิจกรรมสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health Literacy)สนับสนุนข้อมูลด้านกฎหมายสู่การพัฒนาข้อเสนอในการแก้ไขพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 ให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น และพัฒนาแกนนำนักศึกษาสู่การเป็นผู้ขับเคลื่อนความรอบรู้ด้านการป้องกันการพนันให้แก่เด็กและเยาวชน” ศ.พิเศษวิชา กล่าว
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้สำรวจกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป เมื่อปี 2556 พบว่า คนไทยมีปัญหาเกี่ยวกับพนัน 1 ครัวเรือนมีผู้เล่นพนันเฉลี่ย 1 หมื่นบาท ซึ่งปัจจุบันน่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า โดยส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ซึมเศร้า ผลกระทบต่อครอบครัว ก่ออาชญากรรม ถูกจับกุม จึงควรมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ ติดอาวุธในการป้องกันตนเอง ปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ ให้รู้ถึงพิษภัยพนัน