นางสาววศิณี สนแสบ เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน กล่าวว่า จากการลงสำรวจ 55 จุดขายใน14 เขตของกรุงเทพมหานครและนนทบุรี ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ให้น้อง ๆ อายุ 15-18 ปีไปลองขอซื้อสลากฯ พบว่าผู้ขาย 100% ขายสลากให้กับเด็กเยาวชน ไม่มีการสอบถามอายุ แน่นอนไม่มีการขอดูบัตรประชาชน และไม่เอะใจแม้เด็กแต่งชุดนักเรียน ยังให้คำแนะนำเลขเด็ด และเสนอให้ซื้อมากกว่าหนึ่งใบ เหมือนขายให้ผู้ใหญ่ตามปกติ ที่เป็นไปตามคาดคือ 98% ขายเกินราคา 80 บาท
ขณะเดียวกันก็ทำการทดลองเข้าซื้อสลากทางแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เปิดขายกันเต็มไปหมด ก็พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 20ปีสามารถซื้อได้ แม้บางรายจะให้กรอกอายุหรือให้ติ๊กว่าอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี แต่ก็ไม่มีผลอะไร เด็กก็ซื้อสลากได้อยู่ดี จึงน่าสงสัยว่าผู้ค้าสลากรู้หรือไม่ว่าได้ทำผิดกฎหมายหรือว่ารู้แต่ไม่กลัว เพราะคิดว่าการขายสลากให้เด็กเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย กลายเป็นว่าการทำผิดกฎหมายเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำกันจนเคยชิน จึงอยากให้สนง.สลากเคร่งครัดในการบังคับใช้กฎหมายห้ามขายสลากให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีมาตรการเข้มข้นเหมือนกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวถึงสถานการณ์เด็กเยาวชนว่า การพนันยอดนิยมในหมู่เด็กเยาวชนขณะนี้ ได้แก่ ไพ่ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน แทงบอล และเกมพนันออนไลน์ ที่ผ่านมาผู้ใหญ่อาจเข้าใจผิดคิดว่าเด็กไม่เล่นหวย ซึ่งในความจริงแล้วไม่ใช่ ทุกวันนี้เด็กหันมาซื้อและขายหวยกันเยอะมาก
ผลสำรวจของนักวิชาการล่าสุดพบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 7 แสนคนที่ซื้อสลากฯ สมมติเด็ก 7 แสนคนนี้ซื้อสลากเดือนละ 1 ใบ ๆ ละ 80 บาท พวกเขาจะเสียเงิน 56 ล้านบาทต่อเดือนหรือ 672 ล้านบาทต่อปี รัฐบาลได้ส่วนแบ่งตามกฎหมาย 23% เท่ากับรัฐบาลกินเงินเด็กปีละประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งมันควรเป็นเงินที่เขาจะได้นำไปใช้ทางอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่า เรื่องนี้รัฐบาลน่าจะต้องละอายที่ได้กินเงินเด็ก อยากเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นเด็ก ฟังเด็ก และจริงใจกับเด็ก ด้วยการกระทำมากกว่าเป็นเพียงคำพูดหรือบทบัญญัติในกฎหมาย
นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า อยากฝากข้อเสนอต่อสนง.สลาก 4 ข้อ เพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมายเรื่องนี้เป็นจริง 1. รีดีไซน์ (redesign) ออกแบบใบสลากใหม่ เน้นข้อความไม่ขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีให้ชัดเจน เพราะใบสลากถือเป็นสื่อที่เข้าถึงคนหลายสิบล้านในทุกๆ สองสัปดาห์ ถ้าใช้พื้นที่สื่อนี้ให้คุ้มค่าจะเป็นประโยชน์มาก
2. รีไมน์ (remind)มีมาตรการเตือนผู้ค้ารายย่อยให้ต้องทำตามไม่เช่นนั้นจะถูกตัดโควตา รวมถึงจัดทำป้ายประกาศ ณ จุดขายต่างๆ กำหนดให้ต้องติดในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน รวมถึงควรมีการรณรงค์ให้สังคมได้เข้าใจ หากผู้ค้ารายย่อยราวแสนรายที่เป็นคู่สัญญาของสนง.ทำจริงจังเรื่องนี้ ก็น่าจะมีผลให้ผู้ค้ารายย่อยอื่น ๆ ทำตาม
3.รีเลิร์น (relearn) เพราะทุกวันนี้สังคมไทยเรียนรู้การพนันแบบเข้ารกเข้าพงไปมากโดยมีสลากกินแบ่งเป็นตัวนำ เช่น เชื่อว่าถูกหวยเป็นเรื่องง่าย เฉียดคือใกล้ถูก เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศพยายามรณรงค์ให้ความรู้แก่เด็กเยาวชนและประชาชนของเขาให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการพนันอย่างถูกต้อง และอยู่กับการพนันอย่างรู้เท่าทัน
และ 4. รีทิงค์ (rethink) คือทบทวนความคิดใหม่ ยอมรับว่าสลากคือการพนัน อย่าเลี่ยงบาลี ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ให้สังคมเกิดความเข้าใจตรงกัน เพราะทุกวันนี้ยังมีประชาชนจำนวนมากที่สับสนว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลกับหวยใต้ดินใช่หรือไม่ใช่การพนัน พอคิดว่าไม่ใช่เป็นแค่การเสี่ยงโชค ก็เข้าหามันอย่างไม่คิดอะไรมากเท่าที่ควร การทำความจริงให้มีเพียงหนึ่งเดียวเพื่อหยุดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน แล้วใช้เป็นโอกาสในการสร้างการเรียนรู้ สร้างภูมิคุ้มกันให้คนของเราอยู่ร่วมกับการพนันได้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ด้าน น.ส.กมลพรรณ สมหวัง ตัวแทนเยาวชน กล่าวว่า สังคมรอบตัวที่เล่นหวยซื้อสลากกันจนเป็นธรรมดา พ่อแม่ใช้ให้ลูกชี้สลากบ้าง หรือให้ลูกใบ้เลขบ้าง รวมถึงการรายงานข่าวของสื่อต่างๆ โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ล้วนมีผลต่อเด็กและเยาวชน เป็นการปลูกฝังค่านิยมพนันแก่เขาโดยไม่รู้ตัว เป็นจุดเล็กๆ ที่ทำให้เด็กคิดว่าการพนันเป็นเรื่องปกติ ยิ่งปัจจุบันในโลกออนไลน์เข้าถึงง่ายมาก เด็กเยาวชนมีโอกาสถูกชวนให้พนันตลอดเวลา หากเรื่องการไม่ขายสลากให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปียังทำไม่ได้ แล้วจะให้พวกเขามีความเชื่อมั่นอะไรต่อผู้ใหญ่ในการจะปกป้องเขาจากอันตรายใด ๆ ที่ใหญ่หลวงกว่านี้ อยากให้รัฐบังคับใช้กฎหมายให้เป็นจริง ทำให้คนรู้สึกว่าเมื่อทำผิดแล้วถูกปรับจับจริงคนก็จะไม่กล้ากระทำผิด การที่เด็กซื้อหวยเพราะเขาอยากรวย ก็ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ถ้าบ้านเรามีสวัสดิการที่ดี มีโอกาสในชีวิตที่ดีกว่านี้ ประชาชนคงไม่มาหวังรวยด้วยวิธีนี้