บทเรียนการคัดค้านกาสิโนไทย



• มีใครออกมาคัดค้านบ้าง? • ค้านด้วยเหตุผลอะไร? • และมีข้อเสนออะไรที่น่าสนใจ?
หลังจากผ่านความลุ่ม ๆ ดอน ๆ ของการพยายามผลักดันสถานบันเทิงครบวงจรที่มีกาสิโนเป็นส่วนประกอบสำคัญ มาจ่อคิวเรอข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในไม่ช้า ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรตามมา
 
สิ่งที่น่าศึกษาเรียนรู้ คือ ในการผลักดันนโยบายครั้งนี้ของรัฐบาลเกิดแรงต้านเยอะมาก ซึ่งร้อยทั้งร้อยมีโฟกัสอยู่ที่กาสิโน รัฐบาลและภาคสังคมที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้น่าจะถือโอกาสนี้ศึกษาว่า คือ มีใครออกมาคัดค้านบ้าง? ค้านด้วยเหตุผลอะไร? และมีข้อเสนออะไรที่น่าสนใจ?
 
• ใครบ้างที่ค้านกาสิโน
 
จากการติดตามเก็บข้อมูลอาจจำแนกกลุ่มผู้ออกมาแสดงความเห็นและคัดค้นร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ได้ประมาณ 8-9 กลุ่ม
1.กลุ่มคปท. ศปปส. กองทัพธรรม กลุ่มหมอวรงค์ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ต้องการขับไล่รัฐบาล
2.เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดย “มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน” และอีกกว่า 100 องค์กร ซึ่งมีจุดยืนในการจำกัดควบคุมการพนัน และเสนอให้มีมาตรกลไกที่ชัดเจนในการควบคุม รวมถึงการดูแลป้องกันปัญหาและลดผลกระทบทางสังคม ซึ่งถูกมองว่าเป็นขาประจำในการคัดค้านเรื่องการพนัน ในกลุ่มนี้น่าจะรวมถึงเครือข่ายแรงงานด้วย เช่น สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงที่ผ่านมามีกลุ่มที่ไม่ใช่ขาประจำออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นพลังเงียบที่มีอยู่จริง และจะแสดงพลังเมื่อถึงเวลาอันสมควร อาทิ
3. กลุ่มแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข เช่น ชมรมแพทย์อาวุโสและบุคลากรทางการแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น 153 คน กลุ่มแพทย์เชียงใหม่ แพทย์จุฬาฯ แพทย์ศิริราช เป็นต้น
4.คณาจารย์และศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น 99 นักวิชาการที่เคยออกมาแสดงความเห็นตั้งแต่รัฐบาลเริ่มต้นส่งสัญญาณเรื่องนี้เมื่อปีที่แล้ว ต่อเนื่องมายังกลุ่มอาจารย์และนักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม กลุ่มเพื่อนมหิดลเพื่อสังคม เป็นต้น
* ที่คาดไม่ถึงอาจจะเป็น
5.องค์กรด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เช่น สมาคมการศึกษาทางเลือก สภาการศึกษาคาทอลิคแห่งประเทศไทย สภาคริสตจักรในประเทศไทย พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงองค์กรเครือข่าย 5 ศาสนา พุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์ มากันแทบทั้งหมด
6. ภาคธุรกิจ เช่น สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวบางจังหวัด เช่น ภูเก็ต ซึ่งยังเป็นกลุ่มที่ออกมาแสดงความเห็นไม่หนาแน่นมากนัก แต่ก็เป็นเสียงที่มีน้ำหนัก
7. กลุ่มอดีตสมาชิกวุฒิสภา 189 คน อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) 102 คน ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2550 ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่หมัดหนักมาก
*และที่น่าสนใจคือ
8. การแสดงบทบาทของวุฒิสภาที่น่าสนใจและติดตาม
โดยยังไม่ขอนับพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่แสดงจุดยืนชัดเจนบ้าง เช่น พรรคไทยสร้างไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชาติ ไม่ชัดเจนบ้าง เช่น พรรคประชาชน รวมถึงพรรคภูมิใจไทย
 
• ระดับของการคัดค้าน
 
ระดับของการแสดงความเห็นคัดค้านอาจแบ่งได้สัก 3 ระดับ คือ
1.ระดับไม่สบายใจ ระดับนี้อาจจะไม่ถึงขนาดคัดค้านการมีกาสิโน ส่วนหนึ่งอาจเชื่อว่ากาสิโนรวมถึงเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์อาจจะสร้างผลดีทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีความกังวลและห่วงใยผลกระทบทางสังคม
2.ระดับไม่เชื่อมั่น กลุ่มนี้ไม่ปฏิเสธว่าในโลกนี้มีบางประเทศที่ดูเหมือนจะได้ประโยชน์จากการมีกาสิโนและเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ อย่างเช่น สิงคโปร์ แต่ก็ตระหนักว่าความสำเร็จของสิงคโปร์อยู่บนพื้นฐานเฉพาะตัวที่อาจเลียนแบบกันไม่ได้ง่าย ๆ เช่น การมีคอรัปชั่นต่ำ การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ ความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่มาก และมีระบบกฎหมายที่เข้มแข็ง ซึ่งไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะทำได้ถึงมาตรฐานนี้ จึงคิดว่าการมีกาสิโนจะสร้างปัญหามากกว่า
3.ระดับไม่เห็นด้วยและค้านหัวชนฝา คือ กลุ่มที่มองว่ากาสิโนเป็นสิ่งเลวร้าย บวกรวมกับความไม่เชื่อถือในรัฐบาล จึงเชื่อว่านี่คือส่วนผสมของความเลว นำสิ่งเลวมาทำให้ถูกกฎหมายเพื่อหวังประโยชน์ของพวกตน
 
• เหตุผลที่คัดค้าน
 
ในส่วนของประเด็นการแสดงความเห็นของกลุ่มที่กล่าวมา อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1.ประเด็นด้านสังคม ได้แก่ ความห่วงใยในประเด็นผลกระทบสังคม เช่น ปัญหาอาชญากรรม ธุรกิจสีเทา และความปลอดภัยในสังคม ผลกระทบทางสุขภาพ เช่น ผู้เสพติดพนัน ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เช่น ผลต่อค่านิยมและทัศนคติ ผลต่อครอบครัว ผลต่อบรรทัดฐานศีลธรรม
2.ประเด็นทางเศรษฐกิจ เช่น ความไม่จำเป็นที่จะต้องมีกาสิโนเพราะประเทศไทยมีทุนดีในด้านต่าง ๆ อยู่แล้วมากมาย ความไม่คุ้มค่าของการลงทุน การเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุน และการขยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
3.ประเด็นทางการเมือง เช่น การไม่ได้หาเสียงในช่วงเลือกตั้ง เป้าหมายของนโยบายรวมทั้งรายละเอียดไม่มีความชัดเจน ร่างพ.ร.บ.ขาดความรัดกุม ความไม่ไว้วางใจในการบังคับใช้กฎหมาย และความไม่ไว้ใจเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น
เหล่านี้คือประเด็นที่รัฐบาลน่าจะรู้ดีมาตั้งแต่ต้น แต่น่าแปลกใจที่รัฐบาลกลับสร้างความกระจ่างให้ประชาชนเชื่อมั่นไม่ได้ นี่คือโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล
 
• ก้าวต่อไปของภาคประชาชน
 
ส่วนของภาคประชาชนที่ในช่วงที่ผ่านมาได้พยายามสื่อสารเพื่อให้ข้อมูลแก่สังคมในหลายด้าน โดยเฉพาะบทเรียนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อชี้ให้เห็นปัจจัยความสำเร็จและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมีกาสิโน รวมถึงการให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ของรัฐบาลที่ส่อเจตนาเปิดช่องโหว่ไว้อย่างมากมาย แต่ก็พบว่า ข้อมูลข่าวสารทั้งหลายยังคงกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง ประชาชนในต่างจังหวัดยังรับรู้เรื่องนี้ไม่มาก อีกประเด็นหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ ส่วนใหญ่ของผู้ออกมาแสดงความเห็นและคัดค้านในครั้งนี้เป็นคนรุ่นเก่าเป็นหลัก ขณะที่เยาวชนคนรุ่นใหม่อาจยังออกมาไม่มากนัก
ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำต่อไปของภาคประชาชนมีอย่างน้อย 4 ประการ คือ
1) การเปิดพื้นที่สานเสวนารับฟังความเห็นคนรุ่นใหม่ และสนับสนุนให้พวกเขาได้แสดงพลังของตนต่อเรื่องนี้
2) การขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้องการทำประชามติต่อรัฐบาล
3) การพยายามสานพลังของฝ่ายต่าง ๆ ที่ออกมาในครั้งนี้
4) การศึกษาช่องทางการฟ้องร้องตามกฎหมาย
ทั้งหมดนี้เพื่อเตรียมรับมือกับฉากต่อไปหากรัฐบาลดึงดันจะไปต่อไม่พอแค่นี้
 
“ธนากร คมกฤส” เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน