แบนเนอร์รณรงค์ "ดูฟุตบอลสนุกได้ โดยไม่ต้องพนัน"



ที่มา/ความสำคัญ

          องค์การอนามัยโลกหรือ WHO กำหนดให้พฤติกรรมติดการพนันเป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง เพราะคนที่ติดพนันนั้น ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำลงไปเป็นสิ่งที่อาจส่งผลเสียต่อตนเองและคนอื่น  เช่น เสียเงิน เสียการงานหรือการเรียน เสียสุขภาพ หรือเสียความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด  แต่ก็อดพนันไม่ได้  คล้ายคนติดเหล้า หรือสารเสพติดอื่น ๆ   อาการสำคัญ คือ มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ  ใจจดจ่ออยู่กับการพนันตลอดเวลา ไม่สามารถคิด หรือทำอย่างอื่น  โหยหาแต่การพนัน  และควบคุมตัวเองไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องพนัน  ซึ่งต้องได้รับการบำบัดรักษา  ในรายที่มีอาการมากอาจต้องให้ยาเพื่อลดการย้ำคิดย้ำทำ  

           ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า 1 ใน 5 ของผู้พนันในประเทศไทย (ปี 2564)  ประเมินตนเองว่า “ติดพนัน” คือ เล่นมาก เล่นบ่อย เล่นต่อเนื่อง เลิกไม่ได้ จนก่อให้เกิดปัญหา ในจำนวนนี้เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและเป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ รวมกันแล้วกว่า 1 ล้านคน

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ งานศึกษาของต่างประเทศหลายชิ้นค้นพบว่า การเสพติดพนันมีความชุกในหมู่นักกีฬา

  • หน่วยงานด้านการช่วยเหลือผู้ติดพนันในสหรัฐอเมริกา (Delamere) รายงานว่า “นักกีฬามีโอกาสประสบปัญหาจากการพนันสูงกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า”
  • สมาพันธ์นักฟุตบอลอาชีพ (Professional Player’s Federation : 2014) ของอังกฤษ รายงานผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 6.1 ของนักฟุตบอลจะมีปัญหาติดพนัน เทียบกับการติดพนันของประชาชนทั่วไปที่ร้อยละ 1.9 นั่นคือ มากกว่ากันราว 3 เท่าตัว

ในช่วงที่ผ่านมา นักกีฬาอาชีพที่มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคน ได้เปิดเผยต่อสาธาณชนว่า “ตนเป็นผู้เสพติดการพนัน”   อาทิ  ปีเตอร์ ชิลตัน อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติอังกฤษ และกัปตันทีมชาติชุดฟุตบอลโลก 1986  รวมทั้ง พอล เมอร์สัน และเวย์น  รูนีย์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ   ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีรายงานเช่นกันว่า นักกีฬาอาชีพชื่อดังหลายคนมีปัญหาติดพนัน   อาทิ ฟิล มักเคลสัน  และจอห์น  ดาลี (นักอล์ฟ)  ไมเคิล  จอร์แดน  และชาลส์  บาร์คลีย์ (นักบาสเกตบอล) เป็นต้น

 นอกจากนี้ รายงานการศึกษายังพบว่า นักเรียนนักศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยกีฬา เป็นกลุ่มที่มีมความเปราะบางและมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นผู้ประสบปัญหาการพนัน    สมาคมกีฬาระดับ อุดมศึกษาแห่งชาติ (National College Athletic Association : NCAA) ของสหรัฐอเมริกา รายงานว่า นักศึกษากีฬาโดยส่วนมากเล่นพนัน    60% พนันทายผลกีฬา  4% เล่นพนันทุกวัน  6% ยอมรับว่าเสียเงินไปกับการพนันมากกว่า 500 ดอลลาร์ในหนึ่งวัน    สัดส่วนของนักศึกษากีฬาเปรียบเทียบกับนักศึกษาอื่น ๆ ที่เล่นพนันจนเป็นปัญหา คิดเป็น 12.4 : 7.3     และ 6.2% ของนักศึกษากีฬาติดการพนัน

          เนื่องด้วยในเดือนมิถุนายน ที่จะถึงนี้ เทศกาลการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติของทวีปยุโรป หรือ EURO 2024 จะจัดขึ้นที่ประเทศเยอรมันนี    ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  รายงานว่าเทศกาลฟุตบอลขนาดใหญ่ เช่น ฟุตบอลโลก และฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป จะมี “นักพนันหน้าใหม่” เพิ่มขึ้นราว 2 ล้านคน  ในจำนวนนี้ 25% จะกลายเป็นนักพนันต่อเนื่องเมื่อเทศกาลจบลง  ในขณะที่สัดส่วนของเด็กและเยาวชนที่สนใจพนันฟุตบอลมีประมาณ 1 ใน 4 ของกลุ่มนักพนันฟุตบอลที่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน

          จากทั้งหมดที่กล่าวมา  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จึงสนใจที่จะจัดการสัมมนาวิชาการ  ในหัวข้อ “นักกีฬา จิตวิทยา และการพนัน” ขึ้นเพื่อเผยแพร่ข้อมูลวิชาการ และรณรงค์แก่ประชาชน โดยเฉพาะเด็กเยาวชนตื่นตัวต่อปัญหาการพนัน และตระหนักว่า “การพนันเป็นสิ่งเสพติด”